Fête des Lumières 2019 – ทำตัวเป็นแมงเม่าบินเข้างานไฟ (ตอนที่ 2)
ก่อนที่แมงเม่าอย่างเราจะบินออกไปดูไฟในเมืองเป็นรอบที่สอง
เราก็ขอมีส่วนร่วมเป็นสักขีพยานหนึ่งในประเพณีอันเก่าแก่ที่สุดของลียงเสียก่อน
นั่นก็คือการจุดเทียนขอบคุณพระแม่มารีนั่นเอง (อ่านตอนที่ 1 ที่นี่)
จากที่สังเกตการณ์แล้ว จะเรียกว่าเป็นพิธีกรรมก็คงไม่ถนัดปากนัก
เพราะเราไม่ได้สวดมนตร์หรือทำอะไรเป็นพิเศษเลยนอกจากจุดเทียนแล้วนำไปวางตรงขอบหน้าต่างบ้าน
เทียนที่ใช้เป็นเทียนสีขาวแบบที่เราเห็นกันในโบสถ์นั่นแหละค่ะ
นำเทียนมาใส่ในแก้วหรือถ้วยใสๆ เล็กๆ ที่หาได้ในบ้าน หรือตามซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วไปในเมืองเขาก็มีแก้วเทียนขายเพื่อการณ์นี้โดยเฉพาะนะคะ
ใส่น้ำลงไปในแก้วนิดหน่อย วิธีนี้จะช่วยให้เทียนไม่ติดก้นแก้วเวลาทำความสะอาด
เป็นเคล็ดลับที่เพิ่งเรียนรู้จากที่บ้านแฟนแล้วพบว่า “พระเจ้ายอด มันจอร์จมาก!”
แก้วใส่เทียนที่วางขายทั่วไปในซูเปอร์มาร์เก็ต |
ถามผู้รู้ (ยายและแม่ของแฟน) แล้ว ไม่มีตัวเลขตายตัวค่ะ
สำหรับจำนวนเทียนที่ต้องใช้ หลังจากจุดเทียนทั้ง 28 เล่มแล้ว
(ยิ่งเยอะยิ่งสวย เขาว่างั้น) เราก็นำเทียนไปวางประดับไว้ตรงขอบหน้าต่าง
มองไปฝั่งตรงข้าม เห็นเพื่อนบ้าน 2-3 หน่วย กำลังนำเทียนมาวางเหมือนเราเลยค่ะ
แต่ก็แอบผิดหวังมากถึงมากที่สุด เพราะจากที่เคยได้ยินหรือโดนบิวท์ (เป่าหู)
ไว้เยอะนั้น เขาบอกว่าวันที่ 8 ธันวาคม
เป็นวันที่เราจะได้เห็นไฟจากทั้งแสงไฟในงานแสดงและแสงเทียนตามหน้าต่างบ้านเต็มไปโม้ดดดด
แต่สิ่งที่เราเห็นตอนนั้นมีแต่หน้าต่างมืดๆ เต็มไปโม้ดดดดด T0T เห็นเราทำท่าผิดหวังทั้งแม่แฟนและแฟนก็บอกเราว่ามันยังไม่ถึงเวลาที่คนส่วนใหญ่เขาจุดเทียนกันนี่นา
เราเลยค่อยเบาใจค่ะ คิดว่าเดี๋ยวเวลาบินออกไปคงมีแสงไฟจากเทียนให้เห็นมากกว่านี้
ชาวเมืองลียงนำเทียนมาวางเรียงตามขอบหน้าต่างหรือระเบียง |
ก่อนจะก้าวขาออกจากบ้านได้ไม่ถึงชั่วโมง
ฝนเจ้ากรรมก็ตกลงมาแบบไม่มีทีท่าว่าจะหยุดง่ายๆ เสียอย่างนั้น
บอกตัวเองว่าไม่มีเวลามานั่งรอฝนหยุดนะ
ว่าแล้วก็คว้าร่มและเสื้อโค้ทเดินออกไปท้าฝนเลยค่ะ (แน่จริงตกลงมาเยอะๆ เซ่!) เดินผ่านถนน
Cours Franklin Roosevelt (กูร์ แฟรงกลิน โรสเวลต์) ซึ่งมีไฟดวงน้อยระยิบระยับประดับอยู่สองฟากฝั่ง หลงเข้าใจไปแว็บนึงว่านี่เราเดินมาถึงราชดำเนินได้ไงเนี่ย!
เพราะมันเหมือนมากค่ะ (ไม่เชื่อดูรูป)
ถนน Cours Franklin Roosevelt ประดับประดาด้วยไฟเพื่อให้เข้ากับบรรยากาศงาน |
หลังจากเพ้อเจ้อจนพอใจแล้ว
เราและชาวคณะก็เดินต่อจนมาถึง Place Louis Pradel (ปลาส ลุยส์
พราแดล) ซึ่งมีกลุ่มก้อนโคมไฟแบบตั้งโต๊ะประดับประดาอยู่ตลอดแนว
นี่คือผลงานที่ชื่อว่า “Les Lustres” (เลส์ ลูสทร์)
โคมไฟระย้าย้อยแบบกลับหัวค่อยๆ เปลี่ยนสีไปเรื่อยๆ ช้าๆ แดง ฟ้า เขียว ม่วง
อย่างไร้เสียงดนตรีประกอบ ค่ะ...สวยค่ะ...
แล้วเราก็เดินแหวกฝูงคนที่ออกันอยู่ตรงแผงกั้นตรวจกระเป๋าและสัมภาระมาจนถึง Place
du Griffon (ปลาส ดู กริฟฟง) ซึ่งมีตู้เกมพินบอลขนาดยักษ์เล่นตั้งอยู่
ในชื่อผลงาน “Faite vos jeux” (แฟต โวส์ เฌอซ์) ซึ่งเป็นสำนวนฝรั่งเศสตีความได้ว่า
“แล้วแต่โชคชะตาจะกำหนด” ตู้พินบอลยักษ์นอนตะแคงข้างอยู่บริเวณลานขนาดย่อม
เหมือนมีใครมาชนตู้ล้มตอนตีกัน แสงไฟจากจอตู้สว่างจ้า มีเสียงเอฟเฟคต์เกมประกอบฟังดูน่าสนุก
น่าเสียดายที่ผลงานนี้ไม่ใช่ interactive
work ไม่อย่างนั้นคงสนุกกว่านี้ ...แต่คิดไปคิดมา
ถ้าเป็นอย่างนั้นจริง
ป่านนี้เราคงได้ต่อแถวยาวเหยียดออกไปนอกถนนเพื่อรอเล่นเกมแน่ๆ เลยค่ะ
“Les Lustres” ณ Place Louis Pradel |
“Les Lustres” จากอีกมุม |
ตู้เกม “Faite vos jeux” |
ไม่ไกลจากลานตั้งตู้เกม ป้ายไฟนีออนโชว์ชื่อผลงานอีกชิ้นพร้อมระบุทิศที่ชิ้นงานตั้งอยู่
เสียงเพลงดังก้องกังวานไปทั่วลาน Cours des Moirages (กูร์ เดส์
มัวคราจส์) กลุ่มคนดูมากมายกำลังรายล้อม “Order200”
จนเรามองแทบไม่เห็นชิ้นงาน ชะโงกชะเง้ออยู่ไม่กี่นาทีเพลงก็เล่นจบ เป็นสัญญาณบอกว่าจบการแสดง คราวนี้เราเลยรีบดิ่งไปอยู่แถวหน้าเพื่อที่จะได้เห็นผลงานรอบถัดไปอย่างถนัดตา
หลอดไฟ 200 ดวง (เดาเอาจากชื่อผลงานนะคะ 😅) ส่องแสงกระพริบสับเปลี่ยนคิวและเปลี่ยนสีไปตามจังหวะดนตรีแนวอิเล็กทรอนิกส์ [ดูวิดีโอ]
จังหวะนี้เราเริ่มแอบปวดหัวแล้วค่ะ นึกว่าตัวเองกำลังดูเรื่อง 2001: A
Space Odyssey ภาพยนตร์มหาภาพย์อันยิ่งใหญ่สำหรับหลายๆ คน (แต่ไม่ใช่เรา) อยู่
เข้าใจว่างานชิ้นนี้อาจต้องอาศัยการตีความที่ลึกซึ้ง ซึ่งต้องขอยอมรับค่ะว่าส่วนตัวเราเข้าไม่ถึงจริงๆ
แต่ก็ต้องแอบตบมือให้ตัวเองรัวๆๆ ที่ดูโชว์จนจบได้โดยไม่มีอาการคลื่นเหียน
“Order200” บริเวณ Cours des Moirages |
หลังจาก “แลนดิ้ง” สู่พื้นโลก
เราก็เดินเบียดเสียดผู้คนต่อมาจนถึงบริเวณลาน Place des Terreaux (ปลาส เดส์ แตร์โครส์) งาน projection mapping “Une toute
petite histoire de lumière” (อูน ตูต เปอติต อีสตัวร์ เดอ ลูมิแยร์ – ยาวไป๊ 😑) “เรื่องเล็กๆ ของแสงไฟ” กำลังเริ่มฉายพอดี [ดูวิดีโอ]
นับเป็นเรื่องเล็กๆ ที่ยิ่งใหญ่ทีเดียวค่ะ ฝูงดาวนับร้อยลอยระยับอยู่บนตัวอาคาร hôtel
de ville (โอแตล เดอ วีล) (ถ้าให้เปรียบคงคล้ายๆ ศาลากลางจังหวัดบ้านเรา)
และพิพิธภัณฑ์ Musée des
Beaux-Arts (มูเซ เดส์ โบส์สารท์)
ซึ่งถูกอาบด้วยแสงสีน้ำเงินเข้มให้กลายเป็นท้องฟ้ายามค่ำคืน
เสียงเพลงประกอบช่วยสะกดให้เรารู้สึกเหมือนหลุดเขาไปอยู่ในโลกแห่งความฝัน โลกแฟนตาซีในหนังสือนิทาน
[ดูวิดีโอ] แต่น่าเสียดายค่ะที่เรามัวแต่ถ่ายรูปและวิดีโอมาให้คนอื่นดู
จนลืมซึมซับบรรยากาศที่อยู่ตรงหน้า แถมยังทำให้เราไม่เข้าใจเนื้อเรื่องอีกด้วยค่ะ ก็เลยบอกตัวเองว่าจะไม่ทำนิสัยแบบนี้อีกแล้วจ้า
T T แต่ถึงอย่างนั้นก็ตาม ผลงานชิ้นนี้ได้ใจเราไปเลยค่ะ 10/10
ทั้งในเรื่องความสวยงามและวิธีการนำเสนอ
mapping “Une toute petite histoire de lumière” บนอาคาร hôtel de ville |
ภาพงานแสดง “Une toute petite histoire de lumière” เฉิดฉายอลังการอยู่บนอาคารทั้งสองหลัง |
ภาพ mapping รวมของดังเมืองลียง |
หลบหนีฝูงคนจากฝั่งหนึ่ง เพื่อมาเจอกับกลุ่มก้อนคนอีกฟากฝั่งหนึ่งของแม่น้ำ
Saône (โซน) หน้าตึกสถานีรถไฟ Saint-Paul (แซงต์-ปอล)
กำลังฉายภาพนักบินอวกาศที่แหวกว่ายไปมาในห้องหรือฉากที่คนธรรมดาอย่างเราดูไม่ออกเลยค่ะว่ามันคืออะไร
555 ผลงานชิ้นนี้ชื่อว่า “Daydreams”
หรือฝันกลางวันนั่นเองค่ะ ด้วยความที่อยู่ไกลแถมโดนต้นฝรั่งต้นใหญ่ๆ
บังตาทำให้เราดูไม่รู้เรื่องเลยค่ะ ประกอบกับความเอียนในงาน mapping
(หรือเอียนในฝูงคนก็ไม่รู้) ทำให้เราหมดความอดทนที่ยืนชมงานนี้จนจบ
เลยเดินหนีออกมาไปหาที่เงียบๆ (กว่านี้) ดีกว่า
“Daydreams” หน้าสถานีรถไฟ Saint-Paul |
บนถนน Quai de Bondy (เก เดอ บอนดี) เราเดินตามป้ายเข้าไปในตึก Palais
Bondy (ปาเลส์ บอนดี) มีงาน “Les Fabuloscopes” (เลส์
ฟาบูโลสโคปส์) ซึ่งเป็นงาน interactive work จัดแสดงอยู่ถึงสามชิ้นย่อยด้วยกันค่ะ
ทันทีที่ไปยืนอยู่หน้างานชิ้นแรก ก็มีคนหมุนฐานรองชิ้นงานอย่างรวดเร็ว งานทรงปิรามิดหมุนติ้วๆ รอบตัวเอง ก่อให้เกิดเป็นภาพเคลื่อนไหวซึ่งใช้เทคนิคเดียวกันกับที่ใช้ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์บนแผ่นฟิล์มก่อนที่กล้องดิจิตอลจะเข้ามาครองโลกนี่แหละค่ะ
กระจกทรงปิรามิดส่องสว่าง แสดงภาพของ Gignol (กิยอล)
หนึ่งในสัญลักษณ์อันโด่งดังของเมืองลียง ตุ๊กตากิยอลชูป้ายรูปหัวใจบอกรักกันอย่างพร้อมเพรียงพร้อมเสียงประกอบสดใสฟริ้งฟรุ้ง
[ดูวิดีโอ] จากงานทั้งสามชิ้นในห้องโถง
น่าเสียดายที่มีเพียงงานชิ้นแรกชิ้นเดียวที่ใช้การได้ ส่วนอีกสองชิ้นโดนแขวนป้าย
“เสีย” รอให้ทีมงานมาซ่อมอยู่ค่ะ นี่อาจจะเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมเราไม่เห็นงาน interactive
work
มากนัก โดยเฉพาะในงานเทศกาลที่ไม่มีการเก็บค่าเข้าชมใดๆ
เราเดินออกจากตึกมาจนถึงเขตเมืองเก่า หน้าพิพิธภัณฑ์
Gadagne (กาดานย์) ยังคงมีคนมาต่อแถวแถมยาวกว่าคืนแรกที่เราเห็นเป็นเท่าตัว
เรารู้ตัวดีว่าคงไม่มีโอกาสได้ดู “Nocturne” (นอคตูร์น)
งานที่มีเพื่อนเคลมมาว่าดีเลิศอลังการ เลยตัดใจเดินผ่านคิวยาวๆ
ขึ้นไปตามเนินทางเดิน Chemin Neuf (เชอแมง เนิฟ) ซึ่งทำให้เราเห็นงาน mapping “Genesis”
จากมุมที่สูงกว่าและชัดเจนกว่าคืนก่อนมากมาย ภาพที่ฉายบนโบสถ์ Saint-Jean-Baptise
(แซงต์-ฌอง-บัปติส) ณ คืนนั้นดูงามตากว่าที่เราเคยเห็น แถมกลุ่มแสงเทียนจากตึกข้างๆ
โบสถ์ยิ่งช่วยขับให้บรรยากาศโดยรอบดูขลังและงดงามยิ่งขึ้นอีกหลายเท่าตัว
“Genesis” จากมุมสูง |
แสงไฟจาก “Genesis” ล้อกับแสงเทียนริมหน้าต่างในเขตเมืองเก่าเบื้องล่าง |
เดินไต่ขึ้นไปอีกนิด เรามาหยุดพักเบรกเบาๆ ที่ Jardin
Communautaire (จาร์แดง คอมมูโนแตร์) ลียงยามค่ำคืนถูกประดับประดาด้วยแสงไฟหลากสี
แสงไฟจากอาคารบ้านเรือน จากชิงช้าสวรรค์ใจกลางเมือง แสงเทียนจากหน้าต่าง
และสารพัดแสงจากงานแสดงในคืนนั้นทำให้ลียงดูมีชีวิตชีวายิ่งกว่าวันไหนๆ ในรอบปี
ลียงยามค่ำคืนจากมุมสูง |
หลังจากเดินต้านแรงโน้มถ่วงอยู่หลายร้อยเมตร เราก็มาถึงยัง Jardin
André Malraux (จาร์แดง อองเดร มาลโคร) สวนอันเป็นจุดแสดงผลงานการทดลองของนักเรียนหลายสิบชิ้นในชื่อโครงการร่วมกันว่า
“Expérimentations
étudiantes” (เอ็กซ์เปคริมองตาซิยง เอตูดิยองต์ – อ่านข้ามๆ ไปก็ได้ค่ะ...) รังผึ้ง
เสื้อชูชีพเรืองแสง งานจากลูกขนไก่ งาน mapping ฯลฯ
ชิ้นงานเหล่านี้สะท้อนความคิดสร้างสรรค์และแรงบันดาลใจอย่างเต็มเปี่ยมของนักเรียนผู้กระหายความรู้
ลงมาถึงริมน้ำ Saône เราก็ป๊ะเข้ากับ “Colosses” (โกลอส) งานชิ้นที่เราอยากดูพอดี
หุ่นยักษ์ใหญ่รูปร่างคล้ายหุ่นไม้ใช้หัดวาดรูปอย่างกับแฝดผู้พี่กำลังยืนอยู่ในน้ำ
ทำท่าดันสะพาน Pont Bonaparte (ปง โบนาปาร์ต) อย่างแข็งขัน หุ่นทั้งสองตัวเปลี่ยนสีไปเรื่อยๆ จากแดงเป็นน้ำเงิน น้ำเงินเป็นม่วง
ม่วงเป็นเขียว... ตอนที่เรือแล่นเข้ามาใกล้สะพานยิ่งทำให้ดูเหมือนว่าเจ้าหุ่นยักษ์ทั้งสองตัวกำลังพยายามอย่างสุดกำลังที่จะอำนวยความสะดวกให้เรือรอดผ่านสะพานไปได้อย่างปลอดภัย
รอบๆ บริเวณสะพาน แสงเทียนจากฝูงเรือกระดาษลำน้อยส่องระยับอยู่ริมท่าเรือ
เจ้าเรือจิ๋วเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของงานที่ชื่อว่า “Une rivière de lumières” (อูน คริวิแยร์ เดอ
ลูมิแยร์) ที่ถูกปล่อยให้ลอยมาตามลำน้ำ แต่มองดูแล้วก็ไม่ต่างอะไรจากงานลอยกระทงเลยค่ะสำหรับงานชิ้นนี้
เลยสงสัยว่ามีใครแอบไปดูงานแถวบ้านเรามาหรือเปล่าน้อ
พวกเรามุ่งหน้าต่อไปยังทิศทางที่มีแม่น้ำ Rhône (โครน) อยู่
งานชิ้นใหญ่สว่างตาในชื่อ “Pavillon” (ปาวิยง) ตั้งตระหง่านอยู่ใจกลาง Place
Antonin Poncet (ปลาส อองตวน ปงเซต์) ศาลาทรงปิรามิดสีขาวช่วยเพิ่มแสงสว่างให้กับทั่วบริเวณจตุรัส
ทำให้เรารู้สึกปลอดภัยและมั่นใจที่จะเดินผ่านพื้นที่บริเวณนี้อย่างที่ไม่เคยรู้สึกมาก่อนแม้ขณะนั้นจะเป็นยามวิกาลแล้วก็ตาม
เหลือบมองดูเวลาบนหน้าจอมือถือ เกือบห้าทุ่มแล้ว
เราและชาวคณะต่างรู้สึกเหน็ดเหนื่อยจากระยะทางที่เดินและจำนวนคนที่ผ่านเข้ามาในสายตาตลอดทั้งคืนจึงตัดสินใจพากันเดินกลับบ้าน
ในความเงียบงัน ผ่านพ้นพื้นที่จัดแสดงงานมาสักระยะ
หน้าต่างบางบานยังคงมีแสงเทียนให้เห็นอย่างประปราย ณ สี่แยกแห่งหนึ่ง
แสงไฟสีน้ำเงิน ขาว แดง อาบฉายอยู่บนตัวอาคารว่าการเขตปกครอง Rhône
ต้องยอมรับว่านี่เป็นธงผืนที่สวยงามที่สุดเท่าที่เคยเห็นมาเลยค่ะ ธงสามสีส่องสว่าง
ตรึงแน่นไม่ไหวติงอยู่บนตัวอาคารแม้ยามต้องลมแรง
จนทำให้เราอดยิ้มและพึมพำกับตัวเองไม่ได้ หลังจากงานแสดงที่ได้ดูมาทั้งหมดในคืนนั้น
นี่นับว่าเป็นงานฟินาเลปิดฉากที่เยี่ยมยอดจริงๆ ค่ะ
Comments
Post a Comment