Love Lock - เมื่อความรักมันหนักอึ้ง
English version click here
นักเที่ยวชีพจรลงเท้าทั้งหลายที่เคยท่องเที่ยวเดินทางไปชมวัฒนธรรมต่างบ้านต่างเมืองมาหลายประเทศคงจะคุ้นชินกับภาพนี้กันดีใช่มั้ยคะ ภาพของสะพานหรือลูกกรงเหล็กตามหัวเมืองใหญ่ๆ ทั้งหลายที่มักอัดแน่นไปด้วยสีสันและปริมาณของแม่กุญแจจากคู่รักที่จับมือกันมาคล้องใจฝากพยานรักไว้ ณ สถานที่อันเป็นแลนด์มาร์กของเมือง
ส่วนตัวเรานั้นรู้จัก love lock หรือ love padlock นี้เป็นครั้งแรกก็ตอนที่เดินทางมาเที่ยวปารีสเมื่อสิบกว่าปีที่แล้วได้ค่ะ และได้เห็นคอนเซปต์นี้อีกครั้งในยุคที่โซเชียลมีเดียเริ่มเข้ามามีบทบาทในชีวิตเรามากขึ้น เห็นเพื่อนๆ ที่เป็นติ่งเกาหลีชอบถ่ายรูปที่ Seoul Tower มาลงอวด – ตอนนั้นเรายังนึกอยู่เลยว่าเกาหลีต้องก๊อปฯ ฝรั่งเศสไปแน่ๆ 😆 แต่แล้วเราก็เปลี่ยนความคิดนี้ค่ะเมื่อได้เจอมันอีกทีที่เมือง Cologne เยอรมนี ว่าแต่...คอนเซปต์นี้มีที่มาจากที่ไหน มีมาตั้งแต่เมื่อไหร่ เราก็อยากรู้ค่ะ! เลยไปคุ้ยหาข้อมูลมาเล่าต่อในย่อหน้าถัดไปนี้
Love Lock บนสะพาน Hohenzollern ในเมือง Cologne |
ปี 2015 ที่เราไปเยือนนั้น มีแม่กุญแจถูกคล้องไว้บนสะพานแห่งนี้ประมาณ 500,000 อัน |
ที่มาของคอนเซปต์ love lock หรือกุญแจคล้องรักนี้ต้องย้อนกลับไปเมื่อร้อยกว่าปีก่อนในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 ณ เมือง Vrnjačka Banja ประเทศเซอร์เบีย ว่าด้วยเรื่องความรักของครูสาวนามว่า Nada และทหารหนุ่ม Relja หลังจากที่ทั้งคู่ได้ให้คำมั่นสัญญารักต่อกัน Relja ก็จำต้องจากบ้านไปร่วมสงครามที่กรีซ แต่เมื่อไปถึงกรีซชายหนุ่มกลับปันใจไปหลงรักสาวชาวเกาะเมือง Corfu ทำให้ทั้ง Nada และ Relja ต้องถอนหมั้นเลิกรารักที่มีต่อกัน ทว่าฝ่าย Nada นั้นไม่สามารถทำใจกับการสูญเสียครั้งนี้ได้ เธอตรอมใจตายในเวลาต่อมาไม่นาน และเมื่อโศกนาฏกรรมรักเรื่องนี้กลายเป็นที่เล่าขานกันไปทั่ว บรรดาหญิงสาวในเมือง Vrnjačka Banja ต่างเริ่มพากันหาวิธีแก้เคล็ดด้วยไม่อยากลงเอยอย่าง Nada พวกเธอเขียนชื่อตนและคนรักลงบนแม่กุญแจแล้วนำไปคล้องไว้บนราวสะพานที่ Nada และ Relja มักนัดเจอกันก่อนจะโยนลูกกุญแจทิ้งลงน้ำเพื่อให้รักของทั้งคู่คงอยู่ชั่วนิรันดร์ไม่มีใครพรากทั้งคู่จากกันได้ อย่างไรก็ตาม กระแสการแก้เคล็ดด้วยการคล้องแม่กุญแจนี้ค่อยๆ เลือนหายไปตามกาลเวลา และได้กลับมาสู่กระแสนิยมอย่างล้นหลามอีกครั้งจากบทกวี ‘A Prayer for Love’ (ไม่ทราบปี) ของ Desanka Maksimović นักเขียนและกวีชาวเซอร์เบีย จนส่งผลให้สะพานแห่งนี้ถูกเรียกว่า ‘Most Ljubavi’ ที่แปลตรงตัวได้ว่า ‘สะพานแห่งความรัก’ อันเป็นที่รู้จักกันมาจนถึงทุกวันนี้
กระแสนิยมของ love lock เริ่มแพร่กระจายไปทั่วในต้นยุคปี 2000 มาแล้ว โดยผุดขึ้นราวดอกเห็ดตามเมืองใหญ่ๆ อย่างไร้ที่มาในหลายๆ ประเทศ อาทิ อิตาลี ฝรั่งเศส เยอรมนี อังกฤษ สหรัฐอเมริกา แคนาดา และออสเตรเลีย อย่างไรก็ตามคนบางกลุ่มมองว่านี่เป็นการทำลายทรัพย์สินของส่วนรวมและต้องการให้มีการนำแม่กุญแจเหล่านี้ออกไปเสีย ซึ่งในการเอาแม่กุญแจออกแต่ละครั้งนั้นก็หมายถึงค่าใช้จ่ายที่ตามมาด้วยเช่นกัน - หากใครไม่เข้าใจว่ามันเป็นการทำลายสาธารณะสมบัติตรงไหน ลองอ่านเนื้อหาต่อไปนี้ดูค่ะ
Love Lock โผล่มาให้เห็นอย่างประปรายบนสะพาน Pont des Amours เมือง Annecy |
ในวันที่ 9 มิถุนายน ปี 2014 ช่องราวสะพานของ Pont des Arts (ปงต์ เดส์ ซาร์) ณ กรุงปารีส อันเป็นหนึ่งในสะพานที่คู่รักนิยมจูงมือกันมาคล้อง love lock ได้ถล่มลงมา จนเจ้าหน้าที่ต้องปิดสะพานอยู่สองสามชั่วโมงเพื่อเอาแม่กุญแจเหล่านี้ออกก่อนที่มันจะลากเอาราวสะพานทั้งแผงตามลงมา ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ได้ประมาณน้ำหนักของแต่ละช่องราวสะพานที่เต็มไปด้วยแม่กุญแจไว้ที่ 700 กก. และในปี 2015 ทางเมืองปารีสได้ตัดสินใจแทนที่แม่กุญแจแห่งรักเหล่านี้ด้วยผลงานนิทรรศการชั่วคราว street art ของศิลปินดังจำนวนมาก (ไหนใครว่ารักนิรันดร์ไม่มีวันพรากได้ 😂) สรุปช่างรวมน้ำหนักแม่กุญแจทั้งหมดบนสะพานได้ 45 ตัน! นอกจาก Pont des Arts อันเป็นพยานรักสุดฮิตแล้ว วิถีชาวล็อกนี้ยังลามเลียไปถึง Pont de l'Archevêché (ปงต์ เดอ ลาร์เชอเวเช) และ Passerelle Léopold-Sédar-Senghor (ปาสเซอแ(ค)รล-เอโลปอลด์-เซดาร์-แซงกอร์) ซึ่งตั้งอยู่เหนือแม่น้ำ Seine (แซน) เช่นเดียวกับ Pont des Arts อีกด้วย
Love lock ณ สะพาน Pont Neuf ในปารีส |
ส่วนในภาพข้างบนนี้เป็นบรรดา love lock ที่เราถ่ายไว้เมื่อปี 2017 บน Pont Neuf (ปงต์ เนิฟ) ซึ่งอยู่ติดกับ Pont des Arts เห็นอย่างนี้แล้วก็อยากจะบอกกับเมืองปารีสว่า “เหนื่อยหน่อยนะ” เพราะในปารีสยังมีสะพานอีกตั้ง 30 กว่าแห่งให้คู่รักนักท่องเที่ยวได้ไปเลือกคล้องเลือกล็อกกันอีกมากมายเลยล่ะค่ะ😅
English version click here
Comments
Post a Comment