ตู้ปันหนังสือ – แบ่งความรู้ แชร์ความสุข

English Version click here


นับตั้งแต่วิกฤตการณ์โรคระบาดเมื่อต้นปี 2020 ประเทศไทยก็ได้รู้จักกับคอนเซปต์ของ ‘ตู้ปันสุข’ เป็นครั้งแรก คอนเซปต์ที่แสนจะเข้าใจง่าย ภายใต้คำว่า ‘แบ่งปัน’

ที่ฝรั่งเศส โดยเฉพาะในเมืองเล็กๆ เราจะพบตู้ใบเล็กๆ หน้าตาแตกต่างกันไปทั้งสีสันและรูปทรง ตู้ส่วนใหญ่ที่อยู่ในที่โล่งแจ้งจะมีกระจกใสปิดเพื่อป้องกันฝนและฝุ่นอีกด้วย

เราเจอตู้นี้ครั้งแรกที่ Annecy (อานซี) บริเวณถนนหน้าสถานีรถไฟประจำเมืองอันเป็นจุดศูนย์รวมของป้ายรถเมล์หลายสาย ตู้ใบน้อยตั้งเด่นอยู่ท่ามกลางผู้คนที่สัญจรไปมาในช่วงเวลาเร่งรีบ ด้วยความอยากรู้เราจึงไปชะเง้อชะแง้ดู ฝาตู้กระจกมัวมอเต็มไปด้วยฝ้าค่อยๆ ถูกเลื่อนออก หนังสือหลากหลายประเภทและขนาดถูกอัดแน่นอยู่ในตู้สี่เหลี่ยมใบน้อย ทำให้เราผู้เป็นหนอนหนังสือมือสมัครเล่นอดตื่นเต้นกับสิ่งที่เพิ่งค้นพบไม่ได้ เสียดายที่เช้านั้นเรามีธุระต้องรีบไปทำ เราเลยต้องจำใจวางหนังสือเล่มที่สนใจกลับคืนไป เนื่องจากไม่อยากหยิบมันไปโดยไม่แน่ใจว่าเราจะอ่านมันจริงมั้ย และเชื่อว่าอาจมีคนที่สนใจหนังสือเล่มนี้มากกว่าเรา คนที่เขาต้องการหนังสือเล่มนี้มากกว่าเราอยู่

ตู้ปันหนังสือที่ Annecy

เราพบตู้ปันหนังสือที่ไม่มีชื่อเรียกเป็นทางการในภาษาฝรั่งเศสนี้อีกหลายครั้งในหลายพื้นที่แถบ Auvergne-Rhône-Alpes (โอแวนญ์-โ(ค)รน-อาลป์) ว่ากันว่าตู้แบบนี้สามารถพบเห็นได้ทั่วไปในฝรั่งเศส แต่น่าแปลกใจว่าตลอดระยะเวลา 3 ปีที่เราอยู่ที่ Lille (ลีล) ทางตอนเหนือของประเทศเราไม่เคยเจอตู้พวกนี้อยู่ในพื้นที่สาธารณะเลย (ถ้าใครที่เคยเห็นตู้แบบนี้แถวทางเหนือช่วยระบุพิกัดให้บ้างนะคะ)

ตู้ปันหนังสืออีกใบที่ Annecy

มีทั้งหนังสือภาษาฝรั่งเศสและอังกฤษให้ยืมไปอ่าน

ด้วยความอยากรู้ เราจึงไปหาที่มาของตู้แบ่ง ตู้แชร์หนังสือ ห้องสมุดแจกฟรีหรืออะไรก็ตามแต่เราจะเรียกนี้จากข้อมูลที่เชื่อถือได้ทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งหากค้นคว้าหาข้อมูลแค่เพียงผิวเผินเราจะพบชื่อของ Todd Bol บุรุษผู้เป็นเสมือนผู้ให้กำเนิดแนวคิดนี้ แต่หากใช้เวลาค้นคว้าข้อมูลอย่างจริงจังแล้ว เราจะพบว่าต้นกำเนิดของแนวคิดนี้ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน แต่ข้อมูลที่เราเจอจากการพยายามขุดลึกลงไปกว่านั้น เป็นชื่อของ Michael Clegg และ Martin Guttmann ศิลปินคู่ดูโอกับโปรเจ็คงานศิลปะ ‘ห้องสมุดแบบเปิด’ (Open Library) ของพวกเขาค่ะ โปรเจ็คนี้เริ่มจัดแสดง (และเปิดให้ใช้) ในปี 1991 ณ เมือง Graz ประเทศออสเตรีย โดยแนวคิดแรกเริ่มคือความต้องการที่จะก้าวข้ามแนวคิดของงานศิลปะจากวัสดุสำเร็จรูป (Ready-made Art) ที่อยู่แต่ในกรอบสี่เหลี่ยมภายในพิพิธภัณฑ์ให้ปรากฏกายสู่สายตาของประชาชนบนพื้นที่สาธารณะ

ทั้งนี้สองศิลปินได้รวบรวมหนังสือที่ขอบริจาคจากตามบ้านมาบรรจุลงในตู้ เพื่อให้ผู้คนที่อาศัยอยู่ในละแวกนั้นมาหยิบยืมหนังสือไปอ่านได้โดยไม่มีข้อผูกมัดใดๆ แล้วถ้าใครมีหนังสือเล่มไหนอยากแบ่งให้คนอื่นอ่านก็สามารถนำมาใส่ไว้ในตู้ได้เช่นกัน

โปรเจ็คของพวกเขาได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี มีการจัดแสดงผลงานในลักษณะเดียวกันนี้อีกในเยอรมนีในปี 1993 และนี่คงเป็นจุดเริ่มต้นของแนวคิดตู้ปันหนังสือที่เราเห็นกันทั่วไปในประเทศตะวันตกทุกวันนี้

อย่างที่บอกไปว่าที่ฝรั่งเศสไม่มีชื่อเรียกตู้ที่ว่านี้อย่างเป็นทาง แต่คนฝรั่งเศสมักจะคุ้นชื่อของ Boîte à Lire (บวต อา ลีร์) ที่แปลแบบโต้งๆ ตรงๆ ได้ว่า ‘กล่องสำหรับอ่าน’ หรือไม่ก็ Bibliothèque de Rue (บิบลิโอแตค เดอ (ค)รู) ที่แปลว่า ‘ห้องสมุดข้างถนน’ ซึ่งในกรณีหลังนี้ โดยปกติแล้วจะเป็นชื่อที่หน่วยงานเพื่อสังคมใช้ อันหมายถึงห้องสมุดเคลื่อนที่ที่มาพร้อมเกม กิจกรรม และการแสดงต่างๆ ซึ่งจัดขึ้นเพื่อเยาวชนผู้ด้อยโอกาสตามชุมชนต่างๆ เสียมากกว่า

Boîte à Lire ที่เมือง Hauterives (โอตทริฟ)

Boîte à Lire อีกใบที่เมือง Hauterives (โอตทริฟ)

จากการค้นหาข้อมูล ทำให้เราพบอีกว่า นอกจากตู้ปันหนังสือที่เราคุ้นหน้าคุ้นตาแล้ว ยังมีกิจกรรมอีกอย่างที่เราไม่เคยได้ยินหรือประสบเองมาก่อน กิจกรรมนี้มีชื่อเรียกว่า Bookcrossing ซึ่งดูเหมือนว่าจะเป็นที่รู้จักกันในกลุ่มเล็กๆ ในเมืองไทยภายใต้ชื่อ ‘หนังสือเดินทาง’ หลักการก็แสนจะเรียบง่าย ว่าด้วยการนำหนังสือที่อยากแบ่งปันให้คนอื่นอ่านไป ‘ปล่อย’ ไว้ในพื้นที่สาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นใต้ต้นไม้ในสวนสาธารณะ ร้านกาแฟ ป้ายรถเมล์ ฯลฯ เพื่อรอใครสักคนไป ‘จับ’ มันขึ้นมาเพื่ออ่าน และปล่อยต่อต่อไป จากเว็บไซต์ www.bookcrossing.com ผู้ริเริ่มไอเดีย Ron Hornbaker และภรรยาต้องการให้โลกใบนี้เป็นเสมือนห้องสมุดห้องใหญ่ไร้พรมแดนนั่นเอง ดังนั้นหากต้องการมีส่วนร่วมในการแบ่งปัน ไม่ว่าใครก็สามารถเข้าไปลงทะเบียนเลขหนังสือบนเว็บไซต์พร้อมแนบข้อความที่ต้องการติดไว้ที่หนังสือก่อนนำไปปล่อย โดยเราสามารถติดตามการผจญภัยของหนังสือเล่มนั้นได้จากเลขที่ลงทะเบียนนั่นเอง โดยหวังว่าผู้ที่จับหนังสือเล่มนี้ไปจะเข้าไปลงทะเบียนในเว็บไซต์เพื่อรายงานว่าหนังสือเล่มนี้อยู่ที่ไหนและจะเดินทางไปที่ไหนต่อ ซึ่งนับว่าเป็นไอเดียที่น่ารัก น่าส่งเสริมมากๆ เลยล่ะค่ะ

อย่างไรก็ตาม ยิ่งหาข้อมูลลงลึกเท่าไหร่ เราก็ยิ่งเจอรายละเอียดเพิ่มเติมมากเท่านั้น และหนึ่งในเรื่องที่เจอก็ดูจะหนีไม่พ้นเรื่องของความขัดแย้ง ในกรณีของ Little Free Library ของ Todd Bol ที่มีกลุ่มร้านค้าและบริษัทที่นำเอาไอเดียพร้อมชื่อของเขาไปใช้แสวงหาผลกำไรส่วนตัว ด้วยการขายตู้ Little Free Library จนทำให้องค์กรของเขาต้องออกมาแสดงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์จนนำมาสู่ประเด็นความขัดแย้งทางด้านผลประโยชน์อื่นๆ อีกในเวลาต่อมา (อ่านลายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่) หรือเสียงวิพากษ์วิจารณ์กิจกรรม Bookcrossing ว่าสร้างผลกระทบให้กับยอดขายหนังสือ ที่อาจนำมาสู่การลดค่าตอบแทนในวงการนักเขียน ในขณะที่อีกฝ่ายก็ออกมาแสดงความเห็นว่ากิจกรรมนี้ไม่ใช่การทำซ้ำ หรือละเมิดลิขสิทธิ์ใดๆ ของสำนักพิมพ์ทั้งสิ้น อันเป็นสิ่งที่ Ron Hornbaker ได้คำนึงถึงไว้ตั้งแต่แรกแล้ว

มุมปันหนังสือในห้าง Part-Dieu (ปาร์-ดิเยอ) ที่ Lyon

เขียนมาถึงตรงนี้ เราก็อดที่จะหันกลับมามองตู้ปันสุขในบ้านเราไม่ได้ ที่มีทั้งกระแสตอบรับในทางบวกและเสียงตำหนิติฉินผู้ที่มุ่งแต่หาผลประโยชน์จากตู้นี้ให้ตนเองจนลืมนึกถึงผู้อื่น สำหรับเราแล้ว ไม่ว่าตู้หรือกิจกรรมเหล่านี้จะมีชื่อเรียกว่าอะไร บรรจุอะไรไว้ข้างใน หากจุดประสงค์ที่มีแต่แรกเริ่มคือการ ‘ให้’ หรือการ ‘แบ่งปัน’ นั่นก็ดูจะเพียงพอและชวนให้สุขใจได้มากแล้วล่ะค่ะ (ปีหน้าพร้อมลงประกวดนางสาวไทย)

ปล. คิดเล่นๆ อยู่บ่อยๆ ว่าอยากให้ที่ไทยมีตู้ที่เราได้แบ่งหนังสือกันอ่านแบบที่ฝรั่งเศสบ้าง เราก็บังเอิญเจอมุมปันหนังสือหน้าร้านค้าแห่งหนึ่งใน อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์ เข้าค่ะ แม้จะไม่ได้มีรูปลักษณ์ที่น่าเอ็นดูหรือมีหนังสือยอดนิยมมากมาย แต่ก็นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เป็นแสงไฟดวงน้อยที่อีกไม่นานจิตวิญญาณของคำว่า ‘แบ่งปัน’ คงจะสว่างลุกโชนไปทั่วทุกพื้นที่แน่นอนค่ะ 😊

มุมปันหนังสือที่เจอในตัวเมือง จ.ประจวบฯ

English Version click here


Comments

Popular posts from this blog

เที่ยว Lyon ลงไปทำอะไรดี

8 ของดีเมือง Annecy มาทั้งทีควรโดน

เที่ยวตลาดคริสต์มาสส่งท้ายปีที่ Cologne