ช่วงเวลาแห่งการแบ่งปัน กับงานแต่งสไตล์ฝรั่งเศส
อยู่ฝรั่งเศสมาก็หลายปีแล้ว แต่นี่เป็นครั้งแรกเลยค่ะที่เรามีโอกาสได้ไปเป็นสักขีพยานแห่งความรัก ร่วมแสดงความยินดีในงานแต่งงานของ Violette (วิโอแล็ต) กับ Vincent (แว็งซองต์) เพื่อนที่น่ารักของเรา เราเลยรู้สึกปลื้มจนอดเอามาเล่าให้อ่านกันไม่ได้
แต่งานแต่งงานที่เราจินตนาการไว้นั้นค่อนข้างห่างไกลจากความเป็นจริงพอสมควรค่ะ งานนี้ไม่มีการทำพิธีในโบสถ์ ไม่มีบาทหลวงมาทำพิธีให้ แบบที่เราเคยเห็นในหนังฝรั่ง เพราะนี่เป็นพิธีแต่งงานที่เราเรียกกันว่า Mariage Civil (มา(ค)ริยาจ ซิวิล) ค่ะ
ต้องเล่าเท้าความก่อนว่าแต่เดิมนั้นฝรั่งเศสมีศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิกเป็นศาสนาประจำชาติ จนมาถึงเมื่อปี 1905 หลังจากที่คอนเซปต์ Laïcité (ลาอิคซิเต) ได้เข้ามามีบทบาทในประเทศ ทางภาครัฐฯ จึงได้ประกาศแยกตัวออกจากความเป็นศาสนาคริสต์ กล่าวคือ ทุกวันนี้รัฐบาลและประเทศฝรั่งเศสไม่มีศาสนาประจำชาติ และจะวางตัวเป็นกลางต่อทุกศาสนา และจะปฏิบัติต่อทุกๆ ศาสนาอย่างเท่าเทียมกันค่ะ เพราะฉะนั้น Mariage Civil จึงเป็นวิธีการสมรสเพียงหนทางเดียวที่มีผลทางด้านกฎหมาย เป็นสิ่งเดียวที่สามารถใช้เป็นหลักฐานว่าบุคคลคู่หนึ่งได้ครองคู่ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันทางนิตินัย - จะว่าไปแล้วก็ไม่ต่างอะไรจากกฎหมายไทยหรอกนะคะตรงจุดนี้
มาต่อกันที่พิธีการค่ะ เนื่องจากเป็นการแต่งงานทางด้านกฎหมาย ในตอนสายๆ ของวัน บรรดาสักขีพยานจึงได้รับเชิญให้มารวมตัวกันที่ Mairie (เม(ค)รี) ซึ่งหากให้เปรียบเทียบก็คงคล้ายๆ สำนักงานเทศบาลในประเทศไทยนั่นเองค่ะ โดยพวกเราได้รับคำขอร้อง(แกมบังคับ) ให้เคารพ dress code ที่คู่บ่าวสาวกำหนดไว้ แล้วธีมที่ว่านี่ก็ไม่ใช่ชุดเดรสหรูหรากรุยกรายตามสีที่พวกเขากำหนดหรือสูทราคาแพงพร้อมหมวกเก๋ๆ แต่อย่างใด หากแต่เป็นเสื้อยืดของวงเมทัลร็อควงโปรดใดๆ ก็แล้วแต่เราต่างหาก (เจ้าบ่าวและเจ้าสาวคู่นี้นั้นเขาพบรักกันเพราะเป็นขาเฮฟวีเมทัลเหมือนกันค่ะ)
เมื่อถึงเวลาตามหมายกำหนดการ ท่านนายกเทศมนตรีหรือที่คนฝรั่งเศสเรียกกันว่า
Maire (แมร์) ก็เข้ามาภายในห้องประกอบพิธี ก่อนจะเอ่ยคำอวยพรแก่คู่บ่าวสาว
ตบมุกเล็กน้อยพอเป็นพิธี หลังจากที่เจ้าบ่าวเจ้าสาวแลกแหวนและจุมพิตกัน
ทั้งคู่ก็เซ็นชื่อลงในใบทะเบียนสมรส จากนั้นก็ถือเป็นอันจบพิธีค่ะ ฟังดูเรียบง่ายและจืดชืดมากเลยใช่มั้ยคะ
แต่ความสนุกมันเริ่มจากตรงนี้ต่างหาก
ณ บ้านของบ่าวสาวที่มีการตระเตรียมสถานที่ไว้พร้อมต้อนรับแขกเหรื่อ ทุกคนต่างทยอยเดินหาชื่อตัวเองบนโต๊ะตัวยาว ถ้าเป็นที่ไทยเราสามารถเลือกที่นั่งได้ตามใจชอบภายในกลุ่มที่เขาจัดไว้ให้ใช่มั้ยคะ แต่คนฝรั่งเศสจะเขียนชื่อกำกับไว้เลยค่ะว่าใครนั่งตรงไหน นั่งติดกับใคร โดยดูจากความสนิทสนมใกล้ชิดของผู้มาร่วมงานค่ะ
เมื่อหาชื่อตัวเองเจอแล้ว เราก็ไปตักอาหารมานั่งประจำที่ งานนี้เป็นบุฟเฟต์บริการตัวเองค่ะ โดยอาหารทุกรายการในวันนั้นไม่มีส่วนผสมของเนื้อสัตว์เลยเนื่องจากเจ้าบ่าวและเจ้าสาวเขาเป็นมังสวิรัติค่ะ ถัดจากรายการอาหารก็ต้องต่อด้วยชีสตามแบบฉบับแห่งความเป็นฝรั่งเศ้สฝรั่งเศส บนถาดใบโต ชีสร่วม 10 ชนิดถูกส่งต่อกันมาเรื่อยๆ ตั้งแต่หัวโต๊ะไปจนถึงท้ายโต๊ะ เราที่พอจะเดารสชาติของชีสบางตัวออกจากหน้าตาของมันรีบบอกผ่านทันที แต่ก็ยังแอบชิมนู่นนิดนี่หน่อยสำหรับชีสตัวที่เราไม่แน่ใจในรสชาติหรือไม่คุ้นหน้าตาของมัน
salty cake ใส่ผักต่างๆ รับประทานเป็นของคาว |
พอหนังท้องเริ่มตึงได้ที่ เจ้าสาวก็ถือกระปุกใบเล็กซึ่งภายในบรรจุกระดาษชิ้นเล็กๆ
มากมายมาให้เราจับฉลากค่ะ เราเปิดมาเจอชื่อวงดนตรีฝรั่งเศสที่เราไม่รู้จัก
ตอนนั้นงงมากว่าเขาจะให้เราทำอะไร แต่แล้วได้ยินเสียงคนข้างๆ
คุยกันว่าจับได้วงเดียวกันเลย
เราก็เลยเดาได้ค่ะว่าเราต้องไปตามหาเพื่อนร่วมทีมที่จับได้ชื่อวงดนตรีเดียวกันกับเราแน่ๆ
ว่าแล้วเราก็ออกค้นหาจนเจอสมาชิกทั้ง 4 ครบทีมค่ะ
ดูเหมือนว่าเขาจะให้เราแยกไปเล่นเกมที่ชื่อว่า Mölkky สู้กับอีก 3 ทีมค่ะ Mölkky หรือ Finska นั้นเป็นเกมที่ถือว่าค่อนข้างใหม่เพราะเพิ่งถือกำเนิดขึ้นมาในปี 1999 จากประเทศฟินแลนด์ สำหรับเรานั้นเกมนี้เป็นเหมือนลูกผสมระหว่างเปตองและโบว์ลิ่งค่ะ เพราะมีทั้งการใช่เทคนิคโยนและกลิ้ง แต่อุปกรณ์ที่ใช้ไม่ใช่ลูกกลมๆ เหมือนสองกีฬาดัง แต่เป็นแท่งไม้ขนาดพอดีมือ และพินอีก 12 แท่งค่ะ ใครสนใจอยากรู้ว่า Mölkky นั้นเล่นยังไง ลองเข้าไปดูกฎกติกาของมันดูได้ค่ะ
เกม Mölkky |
หลังจากที่แพ้อย่างราบคาบ ได้อันดับรองที่โหล่มาครอง พวกเราที่เล่น Mölkky แบบมาเร็วเคลมเร็วก็ไปส่องดูทีมอื่นๆ ที่เขากำลังเล่นเกม Mikado ยักษ์ และเกมทอยลูกเต๋าไม้ที่เจ้าบ่าวลงทุนผลิตขึ้นเองกับมือกันค่ะ กฎของเกมก็ง่ายๆ เพียงแค่คนในทีมต้องช่วยกันทอยลูกเต๋าให้ได้แต้มตามที่ตกลงกันไว้ เช่นถ้า 4 ก็ต้อง 4 เหมือนกันหมดทุกลูก หรือไม่ก็ทอยเป็นแต้มเรียง 1 – 5 อย่างนี้เป็นต้นค่ะ ดูแล้วก็คล้ายๆ เกมลูกเต๋าที่ชื่อว่า Yacht ซึ่งนิยมเล่นกันในหลายๆ ประเทศนั่นแหละค่ะ
Mikado ขนาดใหญ่ยักษ์กว่าเวอร์ชั่นปกติ |
ทีมกำลังทอยลูกเต๋าที่เจ้าบ่าวทำเอง |
ปกติแล้วในงานแต่งเราต้องหิ้วของขวัญไปให้คู่บ่าวสาว แต่งานนี้กลับกันค่ะ เมื่อจบเกม เจ้าบ่าวเจ้าสาวก็ร่วมกันมอบรางวัลให้แก่ทีมผู้ชนะทั้งหมด ซึ่งก็เป็นของที่ระลึกเล็กๆ น้อยๆ แตกต่างกันไปค่ะ ถ้วยชามเอย กระดิ่งเอย หรือแม้แต่ชั้นวางขนมจิบชาสุดไฮโซ เสียดายว่าเรามัวแต่ลุ้นกับของรางวัลในมือของทุกคนจนลืมเก็บภาพตรงนี้มาฝากเลยค่ะ
จบจากเกมช่วยย่อยอาหารที่กินไปเมื่อตอนกลางวัน ก็ได้เวลาดื่มฉลองให้กับคู่สามีภรรยาข้าวใหม่ปลามันกันค่ะ แก้วแชมเปญถูกนำไปแจกจ่ายแก่แขกผู้มาร่วมงานทุกคน (ยกเว้นเด็กน้อยที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ) พร้อมกับเค้กชิ้นโตอีกคนละก้อน (เมาดีนักล่ะค่ะ 😆) เรากล่าวอวยพรกันพอหอมปากหอมคอก่อนจะเปล่งร้อง ไชโย! สามครั้ง ล้อเล่นนะคะ แถวนี้ไม่มีใครเขาไชโยแบบบ้านเรากันนะคะ
แชมเปญกำลังเตรียมแจกจ่ายให้แขกในงาน |
เค้กและผลไม้เสิร์ฟคู่แชมเปญ |
เมื่อดื่มฉลองเสร็จ ก็ได้เวลาแห่งเสียงดนตรี เพื่อนๆ ของคู่บ่าวสาวเตรียมกีตาร์และทรัมเป็ตมาเล่นโชว์ในงาน เล่นจบกี่เพลงก็มีแต่คนร้องขอ “Encore!” (อ็องกอร์) ที่แปลว่า “เอาอีก” และคำนี้นี่เองค่ะที่เป็นที่มาของศัพท์แสงที่ใช้กันในแวดวงดนตรีและคอนเสิร์ตเวลาที่เราอยากให้นักดนตรีเล่นอีกสักเพลงหลังการแสดงจบไปแล้ว (ดูคำอธิบายเพิ่มเติม) เมื่อก่อนนั้น การแสดงแทรกท้ายจากเสียงเรียกร้องของคนดูนั้นเป็นอะไรที่เป็นธรรมชาติมากๆ ค่ะ แต่ปัจจุบันดูเหมือนจะกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติกันไปแล้ว เป็นที่รู้จักว่าเมื่อนักแสดง เอ้ย! นักดนตรีเล่นจบรายการเพลงตามหมายกำหนดการแล้ว พวกเขามักจะเตรียมเพลงปิดท้ายจริงๆ ที่ไม่ได้อยู่ในรายการไว้ด้วยค่ะ
โชว์ทรัมเป็ตจากมุมสูง |
การแสดงจบแต่งานเลี้ยงยังไม่จบแค่นี้นะคะ เมื่อท้องฟ้าเริ่มเปลี่ยนสี ราตรีเข้ามาครอบงำ ภายในงานก็เปิดเพลย์ลิสต์เพลงโปรดของเจ้าบ่าวและเจ้าสาวให้ทุกคนได้ออกมาเต้นกันให้หนำใจ ส่วนใครที่หิวอีกรอบก็มีอาหารคอยบริการบนโต๊ะชนิดที่ไม่ให้ปากเราว่างได้เลยล่ะค่ะ ต้องบอกว่านี่เป็นงานเลี้ยงงานแต่งที่เนิ่นนานที่สุดในชีวิตเราเลยค่ะ งานเริ่มตั้งแต่ 11 โมงที่ Mairie และสิ้นสุดลงตามแต่ร่างกายของแต่ละคนจะเอื้ออำนวย บ้างก็อยู่ค้างคืนที่บ้านบ่าวสาวเสียเลย ในขณะที่เรานั้นยกธงยอมแพ้กันในตอนตีหนึ่งกว่าๆ จึงได้ลาบ่าวสาวกลับบ้าน
เมื่อเครื่องขยายเสียงบรรเลงเพลง ขาแดนซ์ก็ออกมาวาดลวดลายกันแบบเต็มเหยียด |
จากการไปร่วมงานในวันนั้น ทำให้เราได้สังเกตเห็นสิ่งที่แตกต่างอย่างมากจากงานเลี้ยงของไทยก็คือ
งานเลี้ยงแบบฝรั่งเศสนั้นเจ้าบ่าวเจ้าสาวมีโอกาสได้ร่วมกิจกรรมเหมือนกับแขกเหรื่อทุกรายการ
ตลอดทั้งวัน กินอาหารพร้อมกับพวกเรา นั่งพูดคุยแลกเปลี่ยน เล่นเกมกับเรา นี่แหละค่ะถึงจะนับว่าเป็นการแบ่งปันช่วงเวลาแห่งความสุข
ช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลองอันน่าประทับใจไปด้วยกันอย่างแท้จริง
Comments
Post a Comment