สเก็ตบอร์ดตัวแรกในชีวิต กับ DIY แปลงโฉมให้ฮิพไม่ซ้ำใคร
ต้องขอออกตัวไว้ก่อนตรงนี้เลยนะคะว่าไม่ใช่คนที่เล่นสเก็ตบอร์ดแบบเล่นท่า หรือสั่งบอร์ดให้ไปซ้ายขวาได้อย่างใจเสมอไป เรียกว่าทุกวันนี้แค่พยุงตัวอยู่บนบอร์ดได้โดยไม่ล้ม หรือเบรกได้โดยไม่หน้าคะมำก็ดีใจมากแล้ว
เหตุผลที่ทำให้เราตัดสินใจมาลองไถสเก็ตบอร์ดนั้น ไม่ได้เพราะอยากเท่หรืออะไร แต่เพราะเห็นว่าเป็นหนึ่งในยานพาหนะส่วนตัวที่ราคาถูกที่สุดที่เราจะหาได้ในฝรั่งเศส คือถูกกว่าจักรยานอยู่หลายเท่าตัวอยู่ค่ะ และบริเวณใจกลางเมือง Lyon (ลียง) ที่เคยอยู่นั้นก็มีภูมิประเทศที่ค่อนข้างราบเรียบ แถมมีแม่น้ำยาวให้เราได้ชมวิวไปเพลินๆ อีกด้วยค่ะ
ในฝรั่งเศสตามเมืองใหญ่ๆ ซึ่งมีถนนหนทางที่ราบเรียบ ไม่เป็นหลุมบ่อ และมีการแบ่งแนวชัดเจนระหว่างรถยนต์ จักรยาน และคนเดินเท้า สเก็ตสี่ล้อทั้งหลายจึงถือเป็นพาหนะส่วนตัวอีกชนิดหนึ่งที่วัยรุ่นเลยมาจนถึงวัยทำงานเลือกใช้กันให้เห็นประปราย ส่วนตัวเราเองนั้นด้วยความที่คำนวณแล้วว่าเพื่อการเดินทางไปทำงานยังสถานที่อยู่ห่างออกไปเพียง 2-3 กม. การเสียค่าเช่าจักรยานของเมืองเป็นรายวันหลายๆ ครั้งยังแพงกว่าบอร์ดตัวที่ถูกที่สุดที่เราจะหาซื้อได้ เราเลยตัดสินใจรวบรวมความกล้าในการซื้อมันมาลองไถๆ ดูค่ะ
ต้นกำเนิดของสเก็ตบอร์ดนั้นเกิดขึ้นในช่วงปี 1950 รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา โดยสร้างขึ้นจากไอเดียของเหล่านักเซิร์ฟที่ต้องการเซิร์ฟไปทุกที่แม้แต่บนบก จึงมีการนำเอาล้อทั้งสี่ของสเก็ตรองเท้าหรือ roller skates มาติดเข้ากับแผ่นไม้ และนั่นทำให้คนกลุ่มนี้ได้รับฉายาว่า ‘นักเซิร์ฟยางมะตอย’ (asphalt surfers) ในเวลาต่อมา
เราสามารถจำแนกประเภทของสเก็ตบอร์ดแบบหลวมๆ ได้เป็น 2 ประเภทคือ Longboard (บอร์ดแบบบยาว) และ Shortboard (บอร์ดแบบสั้น) ทั้งนี้สเก็ตบอร์ดที่คิดค้นขึ้นในช่วงแรกจึงเป็นบอร์ดประเภท Longboard ซึ่งมีจุดประสงค์ไว้เพื่อ Cruising หรือล่องไปตามถนน เหมือนกับเรือที่ล่องในทะเล หรือเพื่อแข่งความเร็ว Racing ในขณะที่ Shortboard ซึ่งถูกคิดค้นขึ้นทีหลังและได้พัฒนารูปแบบของล้อให้มีขนาดเล็กลงและหน้าแคบขึ้น น้ำหนักเบาขึ้น เพื่อเอาไว้ใช้ในการเล่นท่าผาดโผนต่างๆ โดยเฉพาะ
ส่วนบอร์ดของเรานั้นเรียกว่า Penny Board ความยาวขนาด 22 นิ้วค่ะ มีความก้ำกึ่งระหว่าง Longboard และ Shortboard เนื่องจากมีล้อขนาดใหญ่เหมาะสำหรับ Cruising เหมือน Longboard แต่ตัวบอร์ดมีขนาดเล็กมาก และเป็นประเภทบอร์ดที่เล็กที่สุดในสายพานการผลิตเลยก็ว่าได้ จึงมีคนลองนำ Penny Board ไปเล่นท่าผาดโผนอยู่บ้าง แต่ไม่เป็นที่นิยมเนื่องจากไม่คล่องตัวเหมือน Shortboard ค่ะ
Penny Board ดูเล็กจิ๋วมากเมื่อวางเทียบกับ Longboard ขนาด 50 นิ้ว (โดยประมาณ) ตัวนี้ |
และใครจะเชื่อว่าคนที่สอนเราไถนั้น แม้จะเล่นสเก็ตบอร์ดไม่เป็นแต่ก็สอนเราได้ - เย้ย 😆 แบบนี้ก็ได้หรอ มะแว้งที่แอบสังเกตคนอื่นและลองยืนๆ บนบอร์ดบนพื้นบ้านอยู่ 10 กว่านาที แนะนำเราว่าต้องยืนทิ้งน้ำหนักยังไง จากนั้นนางก็ปล่อยให้เราออกไปผจญโลกกว้างบนท้องถนนหน้าบ้านแต่เพียงลำพังเลยค่ะ โชคดีที่ฝรั่งเขาไม่ค่อยใส่ใจเวลาเห็นเราทำอะไรที่น่าเคอะเขิน เลยทำให้เรารู้สึกหน้าบางน้อยลงเวลาออกไปหัดแล้วล้ม ต้องบอกเลยค่ะว่าช่วงแรกล้มบ่อยมาก มีครั้งนึงเกือบทำบอร์ดตกลงไปในแม่น้ำ Saône สายน้อยแต่ไหลเชี่ยวกรากด้วย
เราที่เคยชินกับการล้มเริ่มทรงตัวได้ดีขึ้น เริ่มเลี้ยวเป็น แต่ทุกวันนี้ก็ยังเบรกไม่คล่องเลยนะคะ มีเพื่อนคนนึงเคยถาม (พอนางรู้ว่าเราเริ่มหัดสเก็ต) ว่า “เบรกยังไง” เราบอกว่า “กระโดดลงโลด” เพื่อนนี่ขำหนักเลยค่ะ 😂 พอเริ่มใช้เป็น(บ้าง)แล้ว หายเกร็ง(บ้าง)แล้ว เราก็เริ่มจะเหม็นขี้หน้าบอร์ดสีเฉิ่มๆ ของเราแล้วค่ะ เราเลยศึกษาหาข้อมูลว่าสีประเภทไหนที่ติดทนนาน ทนแรงเสียดสีจากดอกยางรองเท้าได้ดีที่สุด จนมาได้คำตอบสุดท้ายคือสีสเปรย์ (Aerosol paint) ค่ะ
และนับว่าเป็นจังหวะดีมากที่เพื่อนที่กำลังย้ายบ้านไปบังเอิ๊ญขนสีสเปรย์เซ็ตหนึ่งมาทิ้งไว้ให้ใช้ต่างหน้าพอดี แต่ว่าแอบผิดหวังเล็กน้อยค่ะ เพราะคอลเลคชันของเพื่อนนั้นไม่มีสีโทนเขียวอันเป็นสีโปรดของเราเลย กลับมีแต่โทนชมพู-ม่วงที่เราโปรดน้อยที่สุดอีกต่างหาก 😅
แต่ไม่เป็นไรค่ะ ไหนๆ ก็มีของฟรีมาให้ลองใช้จะไปซื้อใหม่ทำไมให้เปลือง เราเลยลองหา reference ง่ายๆ บน Pinterest ที่ใช้โทนสีชมพู-ม่วง จนมาเจอเข้ากับรูปสองรูปนี้ค่ะ
ก่อนอื่นเราก็จับบอร์ดเน่าๆ ของเรามารื้อแยกส่วนออกให้หมดแล้วทำความสะอาด ขัดบอร์ดด้วยกระดาษทรายเบอร์ค่อนข้างละเอียด เพื่อเอาคราบฝุ่นและรอยหมึก permanent ที่เราวาดเล่นๆ ไว้ออกให้หมดก่อนค่ะ จากนั้นจึงเช็ดทำความสะอาดตัวบอร์ดด้วยผ้าเปียกและแห้งตามลำดับ
สภาพเดิมๆ ก่อนทำความสะอาด |
จับถอดน็อตและทำความสะอาดเอาฝุ่นและคราบสกปรกออกให้เรียบร้อย |
ใช้กระดาษกาวปิดทับส่วนที่ไม่ต้องการให้มีสีที่พ่น |
ลงสีทั้งหมดชั้นแรก |
สเก็ตบอร์ดของเรานั้น นอกจากการไล่เฉดสีตามภาพตัวอย่างแล้ว เรายังมีการใส่อักษรย่อไว้ตรงกลาง เพิ่มความเก๋ไก๋พร้อมเติมเต็มความว่างเปล่าให้กับพื้นที่กรอบกลมๆ ตรงกลางบอร์ดด้วยค่ะ ทั้งนี้เราต้องรู้จักวางแผนลำดับขั้นตอนดีๆ ก่อนจะทำการพ่นสีแต่ละชั้น เพราะถ้าเราไม่มีน้ำยาล้างก็จะลำบากมากค่ะ หรือถึงแม้มีน้ำยาล้าง แต่ไม่ต้องการล้างบางส่วนออกก็ทำไม่ได้ง่ายๆ เลย
พ่นสีชั้นที่สอง |
งานพ่นของเราเป็นงานแบบ improvise ค่ะ หรือเป็นการด้นสดตามสถานการณ์นั่นเอง เลยค่อยๆ ปรับแต่งไปจนกว่าจะพอจะ จะสังเกตเห็นได้ว่า โทนสีชั้นแรกๆ ที่เราลงนั้นต่างกับสีที่ได้ตอนท้ายอยู่พอสมควร เราทำการพ่นสีทั้งหมด 3 ชั้นค่ะ ซึ่งต้องใช้เวลาและความอดทนพอสมควรเลย เนื่องจากต้องรอให้สีแต่ละชั้นแห้งสนิทดีก่อนที่จะพ่นชั้นใหม่ทับลงไป แล้วในขั้นตอนสุดท้ายเป็นการทาน้ำยาเคลือบกันไม่ให้สีหลุดลอกง่ายๆ อีก 2 ชั้นค่ะ (เราใช้ยาเคลือบแบบด้าน) สรุปใช้เวลาทั้งหมด 3-4 วันเต็มค่ะ กว่าจะได้บอร์ดเท่ๆ แนวกาแล็กซีอย่างที่เห็นในภาพด้านล่าง
หลังจากพ่นสีชั้นสุดท้าย ทาน้ำยาเคลือบ และพักไว้อีก 1 วันเต็ม |
ผลงานสำเร็จด้านหลัง (หรือด้านล่าง) |
สีบอร์ดเดิมๆ VS สีบอร์ดตามใจฉัน |
Comments
Post a Comment